Wednesday, November 21, 2007

Updates on the Stupa Project



วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน คณะสถาปนิกและวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างพระมหาสถูปได้มาประชุมร่วมกันที่บ้านมูลนิธิพันดาราที่ซอยลาดพร้าว 11 ได้ข้อสรุปดังนี้

สัดส่วน

เราได้คุยกันเรื่องสัดส่วนของพระสถูปและพื้นที่ตั้งที่ขทิรวัณ ได้ข้อสรุปว่าฐานพระสถูปซึ่งจะทำเป็นเนินขึ้นมาจะอยู่ที่ความสูงประมาณ 9 เมตร ส่วนพระสถูปนับแต่ฐานดอกบัวขึ้นมาจะมีความสูง 45 เมตร รวมความสูงทั้งสิ้น 54 เมตร

วัตถุมงคลภายในพระสถูป

บริเวณกลางพระสถูปจะมีเสาขวัญซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของพระสถูป เสาขวัญนี้จะมีคัมภีร์ซึ่งเป็นลักษณะกระดาษมนตร์พันรอบ โดยคัมภีร์ต้นฉบับมีความยาว 80 หน้ากระดาษทิเบต เราจะต้องใช้หลายชุดพันซ้อนๆกัน ตามจุดที่เป็นจักรทั้งห้าของพระพุทธเจ้า ชุดต้นฉบับจะใช้มือเขียนด้วยหมึกทองจะเป็นชุดแรกที่จะพันที่เสา ทั้งต้นฉบับและชุดถ่ายเอกสารจะทำที่เมืองไทย ขณะนี้ ลาเซริมโปเชกำลังชำระคัมภีร์นี้โดยดูจากคัมภีร์ต้นแบบจาก 5 วัดในทิเบต

ท่านให้ความสำคัญกับการบรรจุภายในพระสถูปซึ่งจะต้องเป็นไปตามประเพณีทุกอย่างและต้องมีความถูกต้องสมบูรณ์ เพราะวัตถุมงคลที่จะบรรจุจะทำให้พระสถูปมีจิตวิญญาณและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา มิฉะนั้นพระสถูปจะมีเพียงร่างเท่านั้น

เสาขวัญนี้อาจเป็นท่อนไม้ต่อๆกัน ในทิเบตนิยมใช้ไม้สนจูนิเปอร์ แต่เราอาจใช้ไม้สีเสียดหรือขทิระก็ได้

วัตถุมงคลอื่นๆที่จะบรรจุ ได้แก่

(1) พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ สถานที่บรรจุยังไม่ทราบ อาจเป็นที่องค์พระสมันตภัทรซึ่งจะประดิษฐานที่วงแหวนทองด้านบน

(2) พระพุทธรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เล็กๆ จะประดิษฐานภายในวงเแหวน

(3) คัมภีร์ แทนพระธรรม อาจบรรจุในบริเวณพระวิหาร

(4) ถุงรัตนโชคลาภ จะบรรจุไว้ที่ฐานแทนธาตุทั้ง 5 บริเวณเหนือซุ้มธรรมบาลขึ้นไป

(5) สถูปพิมพ์องค์เล็กๆทำด้วยดินเหนียวจำนวนมาก

(6) รูปพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ซึ่งจะถ่ายเอกสารที่เมืองไทยอีกจำนวนมาก ทั้งสถูปพิมพ์และรูปพระพุทธเจ้านี้จะบรรจุไว้ที่ฐานพรหมวิหาร4 เหนือบัลลังก์พระสถูปที่เป็นหลังคาของวิหาร

งานการบรรจุจะเริ่มทำตั้งแต่ช่วงริมโปเชมาในเดือนมกราคม 2551

ในระหว่างนี้อาจจะต้องเริ่มก่อสร้างเรือนหล่อพระและเก็บสถูปพิมพ์และวัตถุมงคลต่างๆ เป็นลักษณะ workshop ซึ่งน่าจะอยู่ด้านหน้าบริเวณสวนมะม่วง จะได้สะดวกกับการขนย้ายวัสดุและใกล้กับบ้านสำนักงาน ในอนาคตเมื่อมีช่างหล่อชาวทิเบตมาจะได้มาทำงานที่โรงหล่อนี้

การหล่อพระพุทธรูป

มูลนิธิได้ติดต่อโรงหล่อพุทธรังษี สี่แยกพรานนก ซึ่งคุณธำรง ปัทมภาส ศูนย์ไทย-ธิเบตแนะนำ โรงหล่อนี้มีประสบการณ์ในการหล่อสถูปทิเบตองค์เล็กๆ และหล่อรูปพระโพธิสัตว์และจตุโลกบาลมาแล้ว และมีประสบการณ์ในการทำงานกับต่างประเทศ ทางโรงหล่อยินดีร่วมมือกับมูลนิธิในการทำงานกับช่างทิเบต ในการหาแผ่นทองแดงสำหรับเคาะองค์พระตามขั้นตอนการสร้างพระแบบทิเบต และหาดินเหนียวสำหรับสร้างสถูปพิมพ์

ได้ปรึกษาคุณเอนก ผู้จัดการโรงหล่อ เกี่ยวกับวิธีการหล่อพระ ทางคุณเอนกแนะนำว่าถ้าใช้วิธีการแบบทิเบตอาจจะดีกว่าเพราะเบาและสวยงามกว่า วิธีการแบบไทยใช้ทองเหลืองเป็นจำนวนมาก จะทำให้องค์พระแต่ละองค์หนัก ขนาด 1.5 เมตรจะมีน้ำหนักถึง 400 กิโล ถ้าใช้แบบทิเบต จะเป็นการเคาะแผ่นทองแดง แล้วนำมาประกอบกัน ทางคุณเอนกบอกว่าโรงหล่อยินดีให้ความร่วมมือต่างๆ เช่น ช่วยเชื่อมแผ่นทองแดงเข้าด้วยกัน ช่วยทำฐานและอื่นๆ พร้อมกันทางโรงหล่อก็มีความสนใจจะเรียนรู้กรรมวิธีหล่อพระแบบทิเบตด้วย

ประมาณค่าใช้จ่ายในการหล่อพระ ขนาด 1.5 เมตร องค์ละไม่เกิน 300,000 บาท ถ้าใช้วิธีการหล่อแบบไทย

การทำสถูปจำลอง

มูลนิธิจะหล่อสถูปจำลองโดยใช้เรซินผสมผงหินอ่อนและใช้ทองแดงสำหรับพระพุทธรูปจำลองที่จะประดิษฐานที่วิหารและซุ้ม ทางคุณเอนกรับทำงานนี้ให้ ถ้าได้แบบโดยเร็ว สามารถทำให้เสร็จก่อนวันวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 10 มกราคม ได้

ในเรื่องนี้คณะสถาปนิกและวิศวกรจะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 27 พฤศจิกายน

การแกะรูปพระแม่ตาราจากหินอ่อน

คุณธำรง ปัทมภาสกับมูลนิธิจินเกาะจะทำบุญในการสร้างรูปพระแม่ตาราที่กำลังแกะจากหินอ่อนเพื่อเป็นพระประธานในการทำน้ำมนตร์ขทิรวัณ ขนาดประมาณ 9 นิ้ว (ไม่รวมฐาน)

No comments:

First Vajrayana Buddhist Stupa of Thailand dedicated to world peace and in honor of Thailand's great dharmaraja His Majesty the King Bhumipol.