Thursday, October 25, 2007

Getting to Know the Artist who Draws the Tara Great Stupa Picture

Atipong Padanupong

1. แนะนำตัวเอง

ผมเรียนจบมาทางศิลปะ
แม้จะเป็นสาขาออกแบบแต่หลังจากนั้นก็ทำงานเกี่ยวกับวาดภาพมาโดยตลอด
ประมาณห้าปีก่อนเกิดสนใจศิลปะทิเบตขึ้นมา เป็นความสนใจแบบตื้นเขิน
ผิวเผินที่สุด เห็นรูปเทพดุๆ มือยุ่บยั่บในกองไฟแล้วรู้สึกประทับใจ
รู้สึกว่าชาวทิเบตเขาวาดไฟได้ร้อนแรง ลักษณะท่าทางของเทพเหล่านั้น (
ซึ่งมาทราบภายหลังว่าคือยิดัมและธรรมบาล) ก็ทั้งน่ากลัวและน่าหลงใหล
ในเดือนพฤศจิกาปี ก่อนเกิดสึนามิ ผมออกจากงานประจำ และอยากทำอะไรสนุกๆ
จึงจัดกระเป๋าไปอยู่กับช่างเขียนภาพชาวทิเบตลี้ภัยที่เมืองธรัมศาลา อินเดีย
แม้ตอนกลับจะได้ภาพพระแม่ตาราขาว ที่วาดเองด้วยความภูมิใจกลับมาภาพหนึ่ง
แต่จะว่าไปเรียนเขียนทังกาก็ไม่กล้าพูดเต็มปาก เพราะอยู่กับเขาแค่สองเดือน
ในขณะการเขียนทังกาจริงๆนั้นต้องเรียนกันห้าหกปี
เรียกว่าไปสังเกตการณ์วิธีเขียน และชีวิตช่างเขียนทางโน้นมากกว่า
นอกจากภาพพระแม่ตาราแล้ว ความรู้
ประสบการณ์ที่ได้รับมาก็ไม่ได้ผลิดอกออกผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
จนกระทั่งมาเจออาจารย์กฤษและมูลนิธิพันดารา จึงรู้สึกมีทางไปมากขึ้น


2. เล่าความเป็นมาของการเข้ามาช่วยงานมูลนิธิ

เป็นเรื่องมหัศจรรย์ครั้งหนึ่งในชีวิต
คือผมเจออาจารย์กฤษครั้งแรกในงานภาพยนตร์มิลาเรปะ
ตอนนั้นกลับมาจากธรัมศาลาแล้วราวปีนึง
ในแวดวงคนสนใจเรื่องทิเบตก็ต้องได้ยินได้อ่านหนังสือของอาจารย์
และอยากเจอตัวจริงอยู่แล้ว
พอดีผมมีหนังสือการ์ตูนมิลาเรปะที่เพื่อนชาวทิเบตให้เป็นที่ระลึก
รู้สึกว่าเก็บอยู่กับตัวก็ไม่ได้อะไร เลยขอทำความรู้จักอาจารย์ที่หน้าโรงหนัง
และวันถัดมาก็นำหนังสือไปให้ที่จุฬา อาจารย์บอกว่าเป็นของขวัญปีใหม่
เพราะวันนั้นเป็นวันโลซาร์ ปีใหม่ทิเบตพอดี
จากนั้นผมและอาจารย์ก็ไม่ได้ติดต่อกันเลยประมาณปีครึ่ง
จนกระทั้งถึงต้นเดือนมิถุนาที่ผ่านมานี้เอง
วันนั้นผมไปรอเพื่อนที่อัมรินทร์โซโก้ แล้วเขายกเลิกนัดกะทันหัน
ผมเลยเดินมาขึ้นรถไฟฟ้าที่สถานีชิดลมกลับบ้าน แล้วจู่ๆ
ก็เจออาจารย์กับอาจารย์โสรัจจ์บนสถานีนั่นแหละ
ทักทายกันแล้วอาจารย์ก็บอกให้ไปหาที่จุฬาฯวันรุ่งขึ้น
มีงานให้ช่วยและต้องการช่างเขียนรูปพอดี คือเขียนภาพพระสถูปนี่เอง
จำได้ว่าวันนั้นอาจารย์ดูเหนื่อยๆ เกรียมๆ ผมคิดว่าอาจารย์ไปเล่นกอล์ฟซะอีก
มาทราบวันรุ่งขึ้นว่าอาจารย์ไปกราบที่ทิเบตมา
และตอนที่เจอบนสถานีรถไฟฟ้านั้นอาจารย์ก็เพิ่งกลับมาแค่วันเดียวเอง!
และโดยปกติอาจารย์ก็ไม่ค่อยได้เดินไปแถวชิดลมด้วย
จึงถือเป็นเรื่องน่าประหลาดที่ได้มาเจอ เหมือนมีใครชักใยที่มองไม่เห็นอยู่
และหลังจากนั้น ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อน ผมก็ได้แนะนำพี่จุ่น ( สถาปนิกใจดี)
ให้อาจารย์ เราไปขถิรวัณกับพี่อารีรัตน์ด้วย
คือเราทั้งสี่คนเนี่ยแทบไม่รู้จักกันมาก่อนเลย
แต่ก็จูนเข้ากันได้ดีอย่างน่าพิศวง เมื่อผมวาดพระสถูปรูปที่สองเสร็จ (
ต่อยอดจากรูปแรกที่คุณศุภโชควาดไว้) เราจึงนำภาพนั้น พร้อมคำถามต่างๆ
ไปหาลาร์เซย์รินโปเชที่เฉิงตู โดยงานนี้พี่จุ่นก็พาพี่เล็กพี่กลาง
ครอบครัวสถาปนิกซึ่งสนใจในความเป็นทิเบตไปด้วย และมีคุณจิ๊ก
นักเขียนผ้รักทิเบตมากๆ ร่วมทางไปอีกคน เยินเต็นรอรับเราที่เฉิงตู
หลังจากพบท่านรินโปเชแล้วก็ไปเที่ยวบ้านเยินเต็น
ซึมซับความเป็นทิเบตแบบอัมโดกัน
กลับมาเมืองไทยก็นำคำวิจารณ์ของท่านรินโปเชมาปรับปรุงแก้ไข
และช่วยกันจัดนิทรรศการ
......ก็ได้ร่วมงาน และกลายมาเป็นสมาชิก ( กิตติมศักดิ์ 555 )
ของมูลนิธิโดยไม่รู้ตัวล่ะครับ

3. ทำไมจึงตัดสินใจช่วยวาดพระสถูป ?

อย่างที่เล่ามา มันเหมือนมีบางอย่างดลให้ต้องมาเจออาจารย์และมูลนิธิ
ถ้าจะไม่วาดก็เหมือนฝืนชะตาเกินไปแล้ว
พี่จุ่นเคยบอกว่าทุกอย่างที่เกิดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
มันมีเส้นที่มองไม่เห็นพาเราไปโน่นไปนี่
บางทีความรู้เรื่องศิลปะทิเบตที่ได้ไปสัมผัสยังธรัมศาลา
อาจเป็นการปูพื้นเพื่อมาช่วยงานให้มูลนิธิก็ได้ แต่ตอนนั้นผมยังไม่รู้ตัวหรอก
เรียกว่าปูพื้นตากแดดทิ้งไว้เฉยๆเป็นปีๆ แล้วจู่ๆ ก็เริ่มมีผนัง มีเสามี
อะไรขึ้นมา ผมก็ดีใจที่ได้นำประสบการณ์นั้นมาทำประโยชน์
อีกอย่าง อาจารย์เคยบอกว่าการบังเอิญเจอผม
และเลยเถิดไปถึงพี่ๆสถาปนิกในช่วงที่ต้องการคนช่วยคิดช่วยทำพระสถูปพอดี
คืออานิสงส์หนึ่งจากการกราบ แต่สำหรับตัวผมเอง
นึกไม่ออกทำบุญอะไรไว้จึงได้มาเจออาจารย์ แต่ยอมรับว่าครั้งหนึ่ง สมัยจบใหม่ๆ
คึกคะนองและหิวเงินจนหน้ามืดตามัว
เคยนำความสามารถในการวาดเขียนไปทำเรื่องไม่ดีเอาไว้ ( ถ้าพูดอาจจะติดเรท X )
เรียกว่าใช้วิชาที่เรียนมาในทางมิชอบ บางทีพระท่านคงเมตตา
ให้โอกาสผมทำอะไรดีๆลบล้างนะครับ
เคยอ่านเรื่องธรรมบาลบางองค์ที่ก่อนหน้าเคยเป็นพวกคุณไสยมนตร์ดำ...ด้านมืดของพลังมาก่อน
แล้วได้รับพระธรรมเย็นๆช่วยขัดเกลา จึงปวารณาตนรับใช้
บางทีผมอาจเข้าข่ายนั้นก็ได้ ( คิดสนุกๆน่ะครับ 555 )

4. ไม่เคยทำมาก่อนทำไมจึงทำได้ ?

คงต้องบอกเลยว่าผมไม่ได้วาดคนเดียว และที่วาดออกมาก็เป็นแค่พื้นผิว
ร่างพระสถูปภาพแรกนั้นคุณศุภโชควาดไว้จากคำชี้แนะของลาร์เซย์ รินโปเช
พอดีช่วงนั้นอาจารย์บอกว่าคุณศุภโชคติดงาน
เลยให้ผมขยายภาพร่างนั้นขึ้นมาเป็นภาพใหญ่ และใส่รายละเอียดไปตามสมควร
เรียกได้ว่าโครงสร้างสัดส่วนต่างๆ คุณศุภโชคกำหนดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว
ผมแค่มาขัดเกลาและตกแต่ง เพิ่มลวดลายทิเบตตามที่ได้เรียนรู้มา
ให้พระสถูปดูสวยงามเป็นจริงเป็นจังขึ้นเท่านั้นเอง
และสำหรับภาพพระสถูปที่อยู่หน้าโบรชัวร์นั้น เป็นภาพร่างที่ 3
ที่แก้ไขหลังจากนำไปที่เฉิงตู ให้ท่านรินโปเชพิจารณาแล้ว
เนื่องจากท่านปรับแก้หลายส่วน ซึ่งผมเองตามไม่ทัน
แต่พี่ๆสถาปนิกที่ไปด้วยเขาเข้าใจ และเห็นผมมึนๆ ก็ว่าเอางี้
เดี๋ยวพี่เขาจะนำเอาคอมเมนต์ของท่านรินโปเชมาแก้ไข
และขึ้นเป็นลายเส้นโครงสร้างแบบ 3D ไว้ เอาแบบเป๊ะๆ เลย
แล้วค่อยส่งโครงสร้างนั้นให้ผมตกแต่งลวดลาย ประดับประดา
หมายถึงว่าใช้ลวดลายทิเบตวาดประกอบให้ดูสวยงามเป็นจริงเป็นจังทีหลัง
สำหรับผม โครงสร้างสำคัญกว่าพื้นผิว ถ้าคุณศุภโชค และพี่ๆสถาปนิกไม่ขึ้นโครง
กำหนดสัดส่วนให้ก่อน ผมคงวาดออกมาไม่ได้ คือถึงภาพจะสวยงาม
ก็เป็นแค่ที่ฉาบบนผิวหน้า สัดส่วนคงไม่ลงตัว และไม่สามารถทำงานง่ายขนาดนี้

5. ขณะวาดภาพพระสถูปมีความรู้สึกอย่างไร ?

ดีครับ สนุกเพลิดเพลิน ไม่เครียดไม่กดดันเหมือนงานจ้าง
ยิ่งช่วงนั้นมีงานลูกค้ามาซ้อนๆ กัน ซึ่งเป็นงานที่เน้นปริมาณ
ทำเพื่อเงินเป็นหลัก ยิ่งอยากหันหลังให้และไปวาดพระสถูปแทน เพราะรู้สึกผ่อนคลาย
เป็นงานเย็น ไม่ใช่งานร้อน
และคิดว่าเมื่ออาจารย์ให้โอกาสทำ
ทั้งตัวผมเองก็รู้เรื่องศิลปะทิเบตพอตัวอยู่แล้ว
ก็จะทำให้ดีเท่าที่ความสามารถและเวลาจะอำนวย รู้สึกภูมิใจครับ
ส่วนเรื่องบุญกุศลนั้นก็แอบคิดเหมือนกันเล็กๆ 555 แต่ไม่ได้หวัง
เพราะเกิดความสุขขึ้นในขณะวาด นั่นก็ดีพอแล้ว

No comments:

First Vajrayana Buddhist Stupa of Thailand dedicated to world peace and in honor of Thailand's great dharmaraja His Majesty the King Bhumipol.